“ปลูกเยอะได้เงินน้อย” ถึงเวลา “เกษตรกร” ต้องเปลี่ยนความคิด

นักวิชาการมอง “เกษตรไทย” ต้องเปลี่ยน ปลูกเยอะแต่สร้างรายได้น้อย ถึงเวลาต้องเปลี่ยนความคิด ไม่เน้นปริมาณเหมือนในอดีต แต่เน้นคุณภาพให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู่บริโภคที่เปลี่ยนไป “ถ้าเปลี่ยนความคิดเกษตรกรได้ ก็พลิกชีวิตเขาไปตลอดกาล”

รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ และอาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมเสวนาในหัวข้อ “เกษตรไทย 4.0 ฝ่าคลื่นดีสรัปต์สู่โอกาสใหม่” ภายในงานสัมมนา Business Today forum “ทรานฟอร์มเกษตรไทย ฝ่าคลื่นดีสรับต์ เกษตรอัจฉริยะ Big Data” ระบุว่า ภาคการเกษตรปัจจุบันมีปัญหาและจุดบอดอยู่หลายสิ่ง หนึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดนั่นก็ คือ การมีบุคลากรในภาคการเกษตรเยอะ แต่เมื่อเทียบกับผลผลิตและรายได้แล้ว อยู่ในทิศทางที่สวนทางกัน ประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตรอยู่ 194 ล้านไร่เเละส่วนใหญ่เราส่งสินค้าเกษตรในรูปแบบของวัตถุดิบซึ่งมีราคาน้อยกว่าสินค้าที่ถูกแปรรูปแล้วและสินค้าที่เพิ่มมูลค่าแล้ว
ดังนั้นทางแก้ของปัญหานี้ คือ การทำอย่างไรให้ผลผลิตและราคาออกมาสูงมากยิ่งขึ้น ซึ่งเดิมภาคการเกษตรปัจจุบันเราเน้นในด้านของปริมาณมากกว่าคุณภาพ ดังนั้นจึงทำให้ราคาลดลงเมื่อเทียบกับสินค้าตลาดในปัจจุบัน ซึ่งข้าวก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เพราะประเทศไทยมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในด้านของต้ำแหน่งที่ตั้งและประเภทของดิน ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรยังคงทำการเกษตรในรูปแบบเดิมอยู่ เมื่อเทียบกับเกษตรกรทั่วโลก
ขณะเดียวกันพฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปด้วย โดยปัจจุบันผู้บริโภคจะเน้นในส่วนของคุณภาพ ข้าวที่มีคุณภาพดี , ผลไม้ปลอดสาร ซึ่งในต่างประเทศมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ถูกนำเข้ามาใช้ในการตรวจสอบสถานที่ในการผลิตเพื่อที่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้นซึ่งเกษตรกรไทยยังคงขาดความรู้ในเรื่องเหล่านี้อยู่พอสมควร
“ทำอย่างไรให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย สามารถยกระดับขึ้นไปแข่งขันในระดับสากลได้ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการผลิตหรือการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าทางด้านการเกษตร ยกตัวอย่าง เช่น ข้าว ไม่ควรจะถูกผลิตเป็นข้าวเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแต่จะสามารถที่จะต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆได้เช่นเครื่องสำอางหรือแม้กระทั่งเวชภัณฑ์ต่างๆ”
รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ กล่าว
รศ.ดร.สมพร กล่าวต่ออีกว่า ความท้าทายหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือ ถ้าหากสามารถเปลี่ยนความคิดของเกษตรกรได้ ก็จะทำให้เกษตรกรรายนั้นสามารถที่จะเปลี่ยนคุณภาพชีวิตไปได้อย่างสิ้นเชิง หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดนั่นก็ คือ การให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการปลูกพืชผลทางการเกษตรที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก มาปลูกผลเมล่อน หรือ แอสพารากัส ที่มีราคาสูงเมื่อเทียบกับพืชผลอื่น ๆ ในปริมาณเดียวกัน และสามารถส่งขายสินค้าออนไลน์ได้ ทั้งนี้ก็จำเป็นที่จะต้องดูข้อมูลต่างๆการปลูกด้วยเนื่องจากมันเยอะเกินไปก็จะทำให้ระบบอุปสงค์อุปทานส่งผลทำให้ราคาตกลง
“ในอนาคตจะมีการร่วมมือกับแต่ละภาคส่วนมากขึ้นและถ้าของการท่องเที่ยวก็จะเข้ามามีส่วนในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการท่องเที่ยวในการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวสวนในแต่ละพื้นที่ แล้วจะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาทำให้การผลิตต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเชื่อว่าจะมีแพลตฟอร์มจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรในเรื่องของการรวบรวมข้อมูล ศัตรูพืชรวมถึงจำนวนปริมาณปุ๋ยที่จะใช้ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตจะสามารถควบคุมและดูแลได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ” รศ.ดร.สมพร กล่าว
ทั้งนี้มองว่าเกษตรกรที่จะไม่สามารถอยู่รอดได้ต่อไป หากเกษตรกรที่ไม่ปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีและ เทคโนโลยีแทรกแซงจนไม่สามารถที่จะประกอบธุรกิจได้อีกต่อไป




ความคิดเห็น